อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการลงทุนในเศรษฐกิจไทย

5

ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการลงทุนในเศรษฐกิจไทย โดยคิดเป็นมูลค่าสูงถึงกว่า 322,300 ล้านบาท และมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจริง (Real GDP) คิดเป็นประมาณร้อยละ 3.8 และร้อยละ 2.4 ตามลำดับ ณ ปี 2549 นอกจากนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างยังถือเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (Linkage Industries) ที่มีความเชื่อมโยงถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนศักยภาพการผลิตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว  ทั้งนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างของประเทศไทยได้ประสบปัญหาชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2549 เนื่องจากปัจจัยลบต่างๆ เช่น ความไม่แน่นอนทางการเมือง อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และภาวะราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์เครื่องชี้เศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างล่าสุด พบว่า ภาวะภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างของไทยเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2/2550 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนของภาครัฐ เป็นสำคัญ

ปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างในระยะต่อไป ได้แก่ 1) ทิศทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นแก่การใช้จ่ายของนักลงทุนและประชาชน 2) การดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลในปีงบประมาณ 2551 และเพิ่มการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะในโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดโครงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการรัฐบาล สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวได้ล่าช้ากว่าคาดการณ์ ได้แก่ 1) ความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากปัจจัยลบต่างๆ เช่น แนวโน้มราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และ 2) แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อาจปรับตัวสูงขึ้นตามเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

ตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1/2550 ที่ผ่านมา ภาคอสังหาริมทรัพย์ และการก่อสร้างของไทยประสบปัญหาภาวะชะลอตัวมาตลอด โดยจะเห็นได้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการก่อสร้างขยายตัวในอัตราที่ชะลออย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3/2550 ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัว โดยมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนมีความมั่นใจในเศรษฐกิจมากขึ้น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ มาตรการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล และงบประมาณในส่วนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ส่งผลให้การก่อสร้างปรับตัวดีขึ้น