การวิจัยโอกาสอสังหาริมทรัพย์ไทยก้าวใหม่สู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ในปี 2558 ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็น AEC จะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี หากเปรียบเทียบในแง่ของตลาดที่อยู่อาศัย ก็คือ จากตลาดเดิมของประเทศไทยที่มีประชากรรวม 65 ล้านคน ก็จะกลายเป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับอาเซียน ที่มีประชากรอาศัยอยู่กว่า 600 ล้านคน คำถาม คือ ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยจะสามารถสร้างโอกาสจากการเกิดขึ้นของ AEC นี้อย่างไร

ประเด็นแรก คิดว่าการที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปบุกตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศอาเซียนได้อาจเป็นเรื่องค่อนข้างท้าทายในระยะสั้น เพราะหัวใจหลักของธุรกิจที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องของ Location ยกตัวอย่าง หากผู้ประกอบการที่แต่เดิมทำตลาดที่อยู่อาศัยเฉพาะในกรุงเทพฯ คิดจะไปทำตลาดในต่างจังหวัด ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัย Local Partner ในเรื่องของการหาทำเล ดังนั้น หากมองในแง่ของตลาดต่างประเทศ จึงน่าจะยากกว่าตลาดในประเทศมากขึ้นไปอีก รวมถึงเรื่องของกฎระเบียบของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ขณะที่ธุรกิจที่อยู่อาศัย มีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นกับว่าเมื่อเกิด AEC จะมีการ ลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค หรือมีการปรับกฎระเบียบต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ ระดับเศรษฐกิจ รายได้ ที่ต่างกันย่อมทำให้พฤติกรรมการอยู่อาศัยในประเทศต่างๆ แตกต่างกันด้วย ปัจจัยเหล่านี้จึงสร้าง Barriers to Entry โดยธรรมชาติในการที่บริษัทไทยจะเข้าไปแข่งขันกับผู้ประกอบการท้องถิ่น (Local Developers) ในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในระยะปานกลางถึงระยะยาว ดิฉันคิดว่าการทำธุรกิจที่อยู่อาศัยในอาเซียนน่าจะเป็นโอกาสที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนาแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ กับนักลงทุนจากประเทศสมาชิกอื่นๆ และการขยายธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีอัตราความต้องการที่อยู่อาศัยสูงกว่าบ้านเรา

ดังนั้น โอกาสหนึ่งที่เป็นไปได้ในอนาคต คือ การจ้างสถาปนิกชาวต่างชาติที่มีความรู้ ความเข้าใจ และคุ้นเคยกับพฤติกรรมการอยู่อาศัยและ Lifestyle ของชาวต่างชาติเข้ามาเป็นผู้ออกแบบได้เพิ่มมากขึ้น เพราะสิ่งหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไปหลังการเปิด AEC คือ การจัดทำ ASEAN Business Card เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่นักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบวิชาชีพ แรงงานฝีมือ และผู้มีความสามารถพิเศษ ซึ่งรวมถึงกลุ่มวิชาชีพสถาปนิกแต่ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยก็ต้องเรียนรู้และพัฒนาเพื่อทำความเข้าใจตลาดควบคู่กันไปด้วย เพราะสุดท้ายแล้วผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้บริหารต้องทาหน้าที่ตัดสินใจรายละเอียดต่างๆ ทั้งในเรื่องของทำเล Product การทำตลาด การกำหนดราคา ดังนั้น การเร่งปรับตัวศึกษาหาข้อมูลต่างๆ การเรียนรู้เศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และคำนิยม ความคิดของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเตรียมความพร้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ